ลบ แก้ไข

แนวทางการดําเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน

   

     จากการได้รับเชิญไปพูดให้กับบุคลากรของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ผ่านมา ในหัวข้อเรื่อง "แนวทางการดําเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน" โดยหัวข้อเรื่องที่ให้มาพูดคุยให้ฟังนี้เป็นเรื่องแนวทางการดําเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวอาเซียน ซึ่งกําหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์อาเซียน พ.ศ. 2554-2558 หรือ ASEAN Tourism Strategic Plan 2011-2015 

         ในการทําความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น คิดว่า เราน่าจะต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปของอาเซียนแต่เริ่มต้นมา ที่มีพัฒนาการนํามาสู่ความสําคัญของการท่องเที่ยวในสมาคมอาเซียน และที่จะไปเป็นประชาคมอาเซียน นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งคิดว่านับแต่อาเซียนเริ่มต้นก่อตั้งมาแต่ 8 สิงหาคม 2510 จนถึงเวลานี้ 47 ปีแล้วนั้น อาเซียนมี 3 ลักษณะสําคัญขององค์กรแห่งนี้ก็คือ

 1. อาเซียนมีลักษณะทางการเมือง (Political identity) 
 2. อาเซียนมีลักษณะยึดครองความเป็นรัฐ (State centric) 
 3. อาเซียนมีลักษณะเป็นเหมือนของเล่นของผู้นํา (Leaders driver) 

        จากสามลักษณะของอาเซียนดังกล่าวนี้ทําให้เห็นตลอดช่วงเวลาของพัฒนาการเป็นอาเซียนมาจนถึงปัจจุบัน อาเซียนเป็นแค่องค์กรหนึ่งในระดับภูมิภาค (A Regional Organization) ที่ยึดโยงอยู่กับสามลักษณะดังกล่าวนี้ซึ่งถ้าดูสามลักษณะนี้แล้ว ก็จะเห็นการขาดฐานความเชื่อมโยงกับประชาชนอยู่มากต่อมาเราจึงเห็นจุดของการปรับเปลี่ยนองค์กรในความเป็นภูมิภาคนิยม โน้มเอียงเข้าหาประชาชนเป็นแกนกลางจาก Regional Organization จึงปรับเปลี่ยนมาเป็น People Oriented Organization

        ในบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก ASEAN Association จึงเริ่มมีวิวัฒนาการเข้าสู่การเป็น ASEAN Community ซึ่งเราจะเห็นได้จากตั้งแต่ Bali Concord II 2003 Cebu declaration 2007 และ East Asia Summit ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อปีค.ศ.2012 ที่ผ่านมานี้เอง

        กว่าจะก้าวไปเป็นประชาคมอาเซียน 47 ปีของการรวมตัวเป็นอาเซียนมาจนถึงปีนี้อาเซียนรวมตัวกันอย่างหลวมๆ รวมตัวกันอย่างทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกันมาโดยตลอดแต่อาเซียนก็ไม่ถึงขั้นมีความขัดแย้งในระดับที่ทําสงคราม และก็รวมตัวกันมาในท่ามกลางความแตกต่างมากมายในรัฐสมาชิกอาเซียนด้วยกัน



        เพราะฉะนั้น เราก็จะคุ้นกับคําสําคัญคําหนึ่งที่อาเซียนมักจะพูดเหมือนปลอบใจกันเองว่า อาเซียนรวมตัวกันอยู่ได้อย่าง "มีเอกภาพในความแตกต่าง" (Unity in Diversity) จุดนี้สําคัญมาก กับการทําความเข้าใจอาเซียนและมองภาพของอาเซียนให้ชัดเจนเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ก่อนที่จะวางแผนยุทธศาสตร์ใดๆในการเตรียมความพร้อมบูรณาการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในเสาหลักต่างๆ ที่กําหนดไว้

       ประการแรกเลย เราต้องมีภาพที่ชัดเจนของการกําเนิด อาเซียน มองภาพที่เป็นภูมิทัศน์ทางการเมืองในเอเชียและเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ได้ชัดเจนถึงปรากฏการณ์ 3 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

 1.คือการเข้ามาของลัทธิคอมมิวนิสต์กับการแพร่กระจายขยายตัวของลัทธินี้โดยเฉพาะกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
 2.คือการสิ้นสุดยุคอาณานิคมที่เห็นการดิ้นรนเรียกร้องและต่อสู้ปลดแอกของการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก และการรับเอารูปแบบลัทธิการเมืองเสรีประชาธิปไตยมาใช้เป็นรูปแบบการเมืองการปกครองของตน
 
3.จากสองปรากฏการณ์นี้เอง ที่นําไปสู่ความขัดกันของสองลัทธิการเมือง ซึ่งนํามาสู่ยุคสงครามเย็น จนมาสิ้นสุดในช่วงของการยุติสงครามอินโดจีนครั้งที่สามตอนปลายปี 1989



      ประการที่สอง เราต้องเข้าใจและรู้เรื่องด้วยว่า 47 ปีที่ รวมตัวกันมานี้อาเซียนทํางานอะไร ในกรอบงานแบบไหน 1.ระดับภูมิภาค อาเซียน +3 อาเซียน +6 อาเซียนกับเอเชียตะวันออก 3.กรอบการทํางานในรูปแบบของ
การพัฒนาในระดับภูมิภาค มีอะไร ทําอะไร กรอบงานของประเทศอาเซียนในหมู่เกาะต่างๆ กับอาเซียน
บนผืนแผ่นดินใหญ่จัดกรอบการทํางานของอาเซียนกันยังไง

       ประการที่สาม เราต้องทําความเข้าใจให้ดีว่า "เอกภาพในความแตกต่างของอาเซียน" นั้น คืออะไรมีอะไรบ้าง เช่น 1.ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในอาเซียน 2. ความแตกต่างทางภาษา ศาสนา 3. ความแตกต่างอันเกิดจากเหตุบาดหมางทางใจในประวัติศาสตร์ 4. ความแตกต่างในรูปแบบการเมืองการปกครอง และ 5.ความแตกต่างในระดับของการพัฒนา

      อย่างน้อยสองสามประการนี้ถ้าไม่เข้าใจดีพอ ก็ยังไม่รู้จักตัวตนแท้จริงดีพอต่อความเป็นสมาคมอาเซียน และที่จะก้าว ไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นคําถามที่ท้าทายอยู่มากกับการเป็นประชาคมอาเซียน ว่าจะเป็นจริงแท้แน่หรือ หรือเป็นแค่เพียงจินตนาการที่อยากให้มีขึ้น

      แน่นอน ไม่มีคําถามนี้อีกแล้ว เพราะด้วยความมุ่งมั่นและความพยายามของอาเซียนโดยรวม คือเป้าหมายชัดเจนต่อการเป็นประชาคมอาเซียน ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป

     คนที่ทํางานเกี่ยวกับอาเซียนนั้น ต้องรู้ต้องเข้าใจว่า ในกรอบงานรูปแบบต่างๆ ที่เป็นความร่วมมือของอาเซียนด้วยกัน อาเซียนทํางานที่เป็น Principal fundamental หรือหลักการพื้นฐานยังไง เช่น 1. Minimum Institutionalization 2. Non Interference 3.Consultation และ 4. Consensus และเมื่อจะมาเป็นประชาคมอาเซียนแล้วนั้น หลักการเรื่อง Ruled base ที่เพิ่มเข้ามานั้นคืออะไร

      เรื่องของ Ruled base นี่เอง กลายเป็นตัวกําหนดความเป็นประชาคมอาเซียนต่อมา ซึ่งได้มีการร่างขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อปีค.ศ.2007 ที่เรียกว่า "กฎบัตรอาเซียน" (ASEAN Charter) นี่เป็นดั่งธรรมนูญของการเป็นประชาคมอาเซียนที่สําคัญ แตกตัวออกไปเป็น Road Map for ASEAN Community 2009-2015 และชี้นําให้แต่ละประเทศต้องไปทํา Blueprint เพื่อ Implement Strategic plan ในแต่ละเสาหลักรวมถึง ASEAN Tourism Strategic plan 2011-2015 ที่จะให้ผมมาพูดวันนี้ถึงแนวทางการดําเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน

      รวมถึง ASEAN Tourism Strategic plan 2011-2015 ที่จะให้ผมมาพูดวันนี้ถึงแนวทางการดําเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน

      โดยพื้นฐานของแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนนี้เราเข้าใจกันดีแล้วถึงสามเสาหลักสําคัญที่เป็นองค์ประกอบของการที่จะก้าวไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ถ้าท่านลองเปิดดูจากอารัมภบทของ ASEAN Charter เลยแต่แรก พูดไว้ชัดเจนว่า

      "ผูกพันที่เร่งสร้างประชาคม โดยผ่านความร่วมมือ และการรวมตัวในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ตามที่ได้ระบุไว้ในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยข้อตกลงอาเซียน

      น่าเสียดายที่ว่า การให้ Orientation เรื่องอาเซียนโดยทั่วไปสําหรับบ้านเรา ทําให้ความเข้าใจเรื่องประชาคมอาเซียนพูดกันจนติดปากว่า AEC หรือ ASEAN Economic Community ซึ่งผิดและคลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์ของการมีเสาหลักอื่นด้วยคือ ด้านการเมือง ความมั่นคง กับด้านสังคมและวัฒนธรรม อีกสองเสาหลักประกอบด้วย

      และด้วย Perception อย่างนี้จึงทําให้เราแทบไม่ได้ยินอะไรมากไปกว่าการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมในเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยที่แทบไม่ได้ยินไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักเลยว่า การเตรียมพร้อมบูรณาการของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในเสาหลักการเมืองความมั่นคง และเสาหลักเรื่องสังคมวัฒนธรรม มีอะไรหรือทําอะไรไปกันบ้างแล้ว แค่ไหน



     จุดด้อยจุดหนึ่งในบ้านเรา ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของเสถียร ภาพทางการเมืองไม่นิ่ง และนโยบายไม่ต่อเนื่อง แต่เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยว และเมื่อมองเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียนแล้ว เห็นได้ชัดว่า การท่องเที่ยวน่าจะอยู่ในเสาหลักสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน เมื่อเปลี่ยนอาเซียนจาก Regional Organization มาเป็น People Oriented Organization เพราะก็จะเห็นแนวคิดในเสาหลักสังคมและวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียนว่า "เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระ หว่างกันของประชาชนต่อประชาชน"..."เพื่อเร่งสร้างให้เกิดอัตลักษณ์ของภูมิภาค และปลูกฝังจิตสํานึกความเป็นอาเซียนของประชาชน" 

     ที่สําคัญข้อหนึ่งในแนวคิดของการเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน ก็คือ "เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างบัณฑิตของอาเซียน นักเขียน ศิลปิน นักวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อช่วยให้เกิดการส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย" 

     ทั้งหมดนี้จะเห็น People to People Interaction ที่จะเกิดขึ้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การไปมาหาสู่ระหว่างกันของคนในอาเซียน 200 ล้านคน จะเป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีกิจกรรมร่วมกันอย่างมากมายจากวัฒนธรรมข้ามชาติก็จะกลายเป็นพหุวัฒนธรรม จาก State centric ก็จะกลายเป็นRegional resilience and integration ซึ่งจะมีเรื่องของ Shared value common concern connectivity และ Cross Acculturation people to people diplomacy เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเสาหลักสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน

ขอบคุณที่มา :  เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต (ไทยโพสต์วันที่ 16-17 ต.ค. 57) 
 
 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 2,686 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ